ทำไมหมาล่าถึงครองใจคนไทย
โพสเมื่อ: 1 ปีที่แล้ว วันที่: 25 พฤษภาคม 2023
หมาล่าฟีเวอร์ ทำไมหมาล่าถึงครองใจคนไทย
หลายปีที่ผ่านมาเห็นได้เลยว่า มีร้อนหม้อไฟหมาล่า ที่เปิดตัวขึ้นในเมืองไทย จนเป็นที่มาของคำว่า หมาล่าฟีเวอร์ ซึ่ง คำว่า “หมาล่า” ที่คุ้นหูคนไทยคำนี้ เป็นคำอ่านของอักษร “麻” และ “辣” ในภาษาจีนกลาง หรือจีนแมนดาริน อักษร“麻”(má)อ่านว่า “หมา” แปลว่า อาการชา “辣” (là) อ่านว่า “ล่า” แปลว่า เผ็ด เป็นคำคุณศัพท์บอกความหมายที่สื่อรสชาติเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น 这道菜很辣。(Zhè dào cài hěn là.) ประโยคนี้มีความหมายว่า อาหารจานนี้เผ็ดมาก หรือ吃太多花椒,舌头会嘛。(Chī tài duō huājiāo, shétou huì ma.) เป็นประโยคที่แปลว่า กินฮวาเจียวเยอะเกินไปอาจทำให้ลิ้นมีอาการชาได้
รสชาติของหม่าล่า
โดยความเผ็ดชา มีสาเหตุมาจากเครื่องเทศชนิดหนึ่งที่มีชื่อเรียกว่า “ฮวาเจียว” (花椒) พริกไทยเสฉวน หรือ Sichuan Pepper เป็นเครื่องเทศที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในประเทศจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาหารเสฉวน อาหารเสฉวนแทบจะไม่มีอาหารจานไหนที่ไม่มีฮวาเจียวเป็นส่วนประกอบในการปรุงรส ตั้งแต่อาหารจำพวกหม้อไฟ จนไปถึงผัด ต้ม ตุ๋น ซุป
ที่มาของรสชาติหม่าล่า
ฮวาเจียวที่นำมาใช้ประกอบอาหารหลักๆ มีสองสี คือ สีเขียว และสีแดง สีเขียวเหมาะกับการปรุงอาหารประเภทต้ม หรือนึ่ง ขณะที่สีแดงเหมาะกับการปรุงอาหารประเภทปิ้งย่าง สามารถใส่ทั้งเม็ด หรือนำไปบดให้ละเอียดก่อนนำมาปรุงอาหารก็ได้ ฮวาเจียวมีสารที่ออกฤทธิ์กระตุ้นให้ปุ่มรับรสบนลิ้นเกิดอาการชาลิ้น ความร้อนมีผลทำให้รสเผ็ดและชาเพิ่มมากขึ้น และยังมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวที่ทำให้อาหารจานนั้นมีรสชาติที่มีเสน่ห์มากขึ้น เพราะแท้ที่จริงแล้วลิ้นของเราสามารถรับรู้รสได้เพียง 4 รสคือ ขม เปรี้ยว เค็ม และหวาน โดยที่ลิ้นจะมีปุ่มรับรสเล็กๆ ที่เรียกว่า ปาปิลา (papilla) “เผ็ด” ไม่ใช่รสชาติ แต่เป็นความรู้สึกที่เกิดจากสารชนิดหนึ่งที่มีชื่อเรียกว่า แคปไซซิน (capsaicin) ซึ่งเป็นสารที่พบได้ในพริก
ทำไม “หมาล่า” ถึงถูกใจลิ้นคนไทย
ลิ้นของคนไทยคุ้นชินกับการรับประทานอาหารในหลากหลายรสชาติ เนื่องมาจากวัฒนธรรมการกินของของคนไทยในปัจจุบันได้รับอิทธิพลทั้งจากอาหารตะวันออก และอาหารตะวันตก เห็นได้จากร้านอาหารประเภทฟิวชันที่ได้รับความนิยม อีกประการหนึ่ง คนไทยนิยมใช้สมุนไพรที่มีกลิ่นเฉพาะตัวเป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหาร ไม่ว่าจะเป็นขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด หรือหากใครที่เคยได้ลิ้มรสมะแขว่น หรือลูกระมาศ ก็จะพบว่ามีรสชาติคล้ายคลึงใกล้เคียงกับฮวาเจียว และด้วยตัวอาหารไทยเองที่มีรสชาติครบครันเป็นทุนเดิม ไม่ว่าจะเป็นเปรี้ยว เค็ม หวาน รวมไปถึงรสชาติขม และรสฝาด จึงทำให้คนไทยเคยชินกับการบริโภคอาหารทุกรสชาติ โดยเฉพาะอาหารที่ออกรสจัดจ้าน ซึ่ง “ฮวาเจียว” เครื่องเทศที่เป็นหัวใจหลักของเมนูหมาล่าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ให้ทั้งกลิ่นหอม และความรู้สึกเผ็ดๆ ซ่าๆ ชาๆ เมื่อได้ลิ้มชิมรส จึงได้รับการตอบรับอย่างดีจากคนไทย